top of page

วัดเขาซาด ตั้งอยู่ในตำบลมะเกลือเก่า อําเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา บนพื้นที่ราบระหว่างเควสตาโคราชทั้งสองแนว มีกลุ่มก้อนหินขนาดมหึมาปรากฎท่ามกลางที่ราบ เมื่อชาวบ้านแพ้วถางพื้นที่โดยรอบเพื่อทำการเกษตร กลุ่มก้อนหินเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนเขาวงกต ที่เก็บซ่อนความสงบและพืชพันธุ์ตามธรรมชาติไว้อย่างน่าหลงไหล และเป็นที่ตั้งของวัดเขาซาด ศาสนสถานอันสงบที่เป็นศูนย์รวมความศรัทธาและพึ่งพิงทางจิตใจของชาวบ้า

95522441_135795304718527_743516150551701

ภาพที่ 30.1 ที่ตั้งวัดเขาซาด

95468606_135572321407492_756367501873171

ภาพที่ 30.2 ก้อนหินขนาดมหึมาท่ามกลางพื้นที่ราบ

            ทางธรณีวิทยา พื้นที่วัดเขาซาดปรากฏอยู่ในขอบเขตหมวดหินเสาขัว ซึ่งประกอบด้วยหินทรายเนื้อละเอียดและหินทรายแป้งเป็นหลัก จึงมีความคงทนน้อยกว่าหมวดหินพระวิหาร ที่ประกอบด้วยหินทรายและหินทรายปนกรวดเป็นหลัก พื้นที่โดยรอบจึงถูกกร่อนจนเหลือเป็นที่ราบ แต่จากการศึกษาพบว่า ก้อนหินมหึมาเหล่านี้เป็นหินทรายเนื้อปานกลางถึงเนื้อหยาบ มีสีขาวเทาและสีน้ำตาลแดง ประกอบด้วย แร่ควอตซ์มากกว่าร้อยละ 90 ไม่มีสารเชื่อมประสาน แสดงหินหนามาก ส่วนใหญ่หนามากกว่า 2 เมตร และแสดงโครงสร้างชั้นเฉียงระดับ ที่เป็นหลักฐานว่าเกิดจากการทับถมบริเวณทางน้ำโบราณ จึงสรุปว่า ก้อนหินขนาดมหึมาเหล่านี้ เป็นส่วนที่เหลือของหินแข็ง หมวดหินพระวิหาร ที่เคยตั้งตระหง่าน แต่ถูกกร่อนด้วยธารน้ำโบราณ (คาดว่าเป็นลำตะคองโบราณ) ที่ไหลผ่านบริเวณนี้ก่อนที่น้ำจะเปลี่ยนทิศทางการไหล 

            ที่ผนังของหินทรายบริเวณวัดเขาซาด มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงจากพื้น 5-20 เมตร หน้าผาเหล่านี้เกิดจากรอยแตกของมวลหินซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวแตกของหมวดหินพระวิหารในบริเวณใกล้เคียง บนผนังหน้าผามักมีรอยเว้าและหลุมเป็นรูปวงกลมและวงรี เป็นลักษณะของกุมภลักษณ์ด้านข้าง (lateral pothole) ซึ่งเกิดจากการกร่อนของธารน้ำคล้ายกับการเกิดกุมภลักษณ์แบบปกติ แต่เกิดขึ้นกับผนังด้านข้างตามรอยแตกของมวลหิน ในบริเวณที่จมอยู่ใต้น้ำ

             กุมลักษณ์ด้านข้างเป็นที่รู้จักน้อยกว่ากุมภลักษณ์ปกติ และลักษณะเช่นนี้อาจพบได้เพียงแห่งเดียวในอุทยานธรณีโคราชโดยรูปร่างของกุมภลักษณ์ด้านข้างบริเวณนี้ บ่งชี้ว่ากระแสน้ำโบราณไหลไปทางทิศเหนือ

96235922_135573824740675_420029147217343

ภาพที่ 30.3 กุมภลักษณ์ด้านข้าง ลักษณะการกร่อนโดยธารน้ำโบราณที่เห็นได้บริเวณวัดเขาซาด

เรียบเรียงข้อมูลจาก

  • กระทู้ แหล่งก้อนหินขนาดมหึมา ที่มะเกลือเก่า สูงเนินโคราช http://oknation.nationtv.tv/blog/loongdali/2009/02/06/entry-1

  • Kwuangpin, N, Tepnarong, P. and Chitnarin, A. 2019. Fluvial processes shaping Khorat Cuesta: a case of Wat Khao Saad geosite, Sung Noen District, Nakhon Ratchasima. Proceedings of Symposium on Geological Significant of Khorat Geopark: Khorat Cuesta 2019. 26-28 August, 2019. Nakhon Ratchasima

วัดเขาซาด

bottom of page