
หินชนวน (slate) หรือหินกาบ เป็นหินแปรระดับต่ำที่เกิดจากการแปรสภาพของหินตะกอนเนื้อเม็ด ที่มีเนื้อละเอียด (หินทรายแป้ง หินโคลน หินเคลย์) ด้วยแรงบีบอัด ทำให้หินเปลี่ยนรูป มีการตกผลึกใหม่ของแร่ไมกา และเกิดรอยแยกเป็นแผ่นๆ ขึ้นในมวลหิน โดยรอยแยกนี้ไม่จำเป็นต้องมีระนาบเหมือนการวางชั้นของหินเดิม หินชนวนที่แซะออกเป็นแผ่นใหญ่ๆ ใช้ทำกระดานชนวน แผ่นมุงหลังคา และวัสดุก่อสร้าง


รูปที่ 19.1 ลักษณะของหินชนวน
หินชนวนมักมีความมันวาว ลักษณะนี้เกิดจากการเรียงตัวขนานกันของแร่ที่มีโครงสร้างเป็นแผ่น (แร่ไมกา) ขนาดเล็กมาก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่การเรียงตัวทำให้เกิดการสะท้อนแสงและมันวาวมากกว่าปกติ ทั้งนี้ หินชนวนเกิดจากการแปรสภาพของหินตะกอนเนื้อเม็ด (clastic rocks) ที่มีเนื้อละเอียด เช่น หินโคลน (mudstone) หินเคลย์ (claystone) หินทรายแป้ง (siltstone) และหินดินดาน (shale) ซึ่งเมื่อถูกแปรสภาพในระดับต่ำ และมีแรงมากระทำกับมวลหิน แร่ที่ตกผลึกใหม่แต่ยังมีขนาดเล็กมาก จะจัดเรียงตัวขนานกัน ในทิศทางที่ตั้งฉากกับแรงที่มากระทำต่อหิน การเรียงตัวทำให้เกิดแนวระนาบขนานกัน จัดเป็นโครงสร้างของหินแปรที่เรียกว่า ริ้วขนาน (foliation) และริ้วขนานที่เกิดในหินชนวน เรียกว่า แนวแตกเรียบแบบหินชนวน (slaty cleavage)

ภาพที่ 19.2 ลักษณะของแนวแตกเรียบแบบหินชนวนซึ่งเกิดในทิศทางตั้งฉากกับแรงกระทำ และการใช้ประโยชน์จากการแตกเป็นแผ่นเรียบของหินชนวนเป็นแผ่นกระเบื้องปูหลังคา (ภาพจาก http://geologylearn.blogspot.com/2016/03/types-of-metamorphic-rocks.html)
แหล่งหินชนวนที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา อยู่ในพื้นที่อำเภอปากช่อง โดยหินดั้งเดิมก่อนการแปรสภาพเป็นหินดินดานและหินทรายแป้งของกลุ่มหินสระบุรี ยกตัวอย่างเช่น บริเวณด่านกักสัตว์เขาบันไดม้า ซึ่งปัจจุบันเป็นเหมืองร้าง พบหินชนวนสีเทาดำถึงสีดำ แต่บางบริเวณยังคงเป็นหินตะกอนดั้งเดิม อาทิ หินทรายเนื้อละเอียด หินทรายแป้งและหินดินดาน


ภาพที่ 19.3 หินชนวนบริเวณเขาบันไดม้า อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
แหล่งเรียนรู้ภาพเสมือนจริง:
http://vrgeology.net/2019/02/22/slate/