
พื้นที่อุทยานธรณีโคราช (Khorat Geopark) ครอบคลุมอำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอเมือง อำเภอขามทะเลสอและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา รองรับด้วยหินตะกอนของมหายุคมีโสโซอิก (Mesozoic Era) เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหินโคราช (Khorat Group) ส่วนใหญ่เป็นหินทราย หินทรายแป้ง หินกรวดมน หินโคลนและชั้นเกลือหิน มีอายุประมาณ 140-65 ล้านปีก่อน และด้านบนถูกปิดทับด้วยตะกอนทางน้ำที่ยังไม่แข็งตัว การลำดับชั้นหินในพื้นที่อุทยานธรณีโคราช ประกอบด้วย 7 หมวดหิน เรียงลำดับจากด้านล่างขึ้นมาด้านบน คือ หมวดหินพระวิหาร หมวดหินเสาขัว หมวดหินภูพาน หมวดหินโคกกรวด หมวดหินมหาสารคาม ตะกอนตะพักน้ำและตะกอนทางน้ำยุคปัจจุบัน

ภาพที่ 2.1 แผนที่แสดงการกระจายตัวของหินในพื้นที่อุทยานธรณีโคราช
หมวดหินพระวิหาร ปรากฏบริเวณขอบของที่ราบสูงโคราชทางด้านตะวันตกของอำเภอสีคิ้วและอำเภอสูงเนิน เป็นสันเขาเควสตาด้านนอก (แนวที่ 1) โดยทั่วไปประกอบด้วย หินทรายที่มีแร่ควอตซ์มาก สีขาว สีขาวแกมเทา สีเหลืองและสีชมพู เม็ดทรายมีขนาดละเอียดถึงหยาบ เม็ดทรายค่อนข้างกลม มีการคัดขนาดดี และหินทรายปนกรวดสีน้ำตาลแกมส้ม หินของหมวดหินพระวิหารมักมีชั้นหนาถึงหนามาก แสดงโครงสร้างชั้นเฉียงระดับ (cross-bedding) ขนาดใหญ่ ซึ่งบ่งชี้ถึงการทับถมโดยน้ำ แบบแม่น้ำประสานสาย ที่มีเนินทรายใต้น้ำ บริเวณผิวหน้าชั้นหินอาจพบรอยริ้วคลื่น (ripple mark) และรูชอนไช (burrow) ทั้งนี้การทับถมเกิดเมื่อประมาณ 140 ล้านปีก่อน ในสภาพภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้งและร้อนชื้น

ภาพที่ 2.2 หน้าผาหินทรายของหมวดหินพระวิหาร บริเวณวัดป่าภูผาสูง มองไปทางทิศใต้
หมวดหินเสาขัว ปรากฏเป็นแนวบริเวณที่ราบของอำเภอสีคิ้วและอำเภอสูงเนิน ประกอบด้วยหินทรายแป้งและหินทราย สีน้ำตาลแกมแดงและสีม่วงแกมแดง มักแสดงโครงสร้างชั้นเฉียงระดับขนาดเล็ก มีหินทรายปนกรวดและหินดินดานแทรก พบชั้นหินกรวดมนและหินทรายในบางบริเวณที่เป็นลักษณะของตะกอนในร่องน้ำ ลักษณะเนื้อหินและการลำดับชั้นบ่งชี้ว่าเกิดจากการทับถมของธารน้ำแบบแม่น้ำโค้งตวัด ที่มีตะกอนขนาดละเอียดกว่าแม่น้ำประสานสาย และบางแห่งพบชั้นหินโคลนสลับหินทรายเนื้อละเอียด บ่งชี้สภาพแวดล้อมแบบน้ำท่วมขังบริเวณที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ มักพบซากดึกดำบรรพ์ อาทิ กระดูกและฟันของสัตว์มีกระดูกสันหลังในหินกรวดมนของหมวดหินเสาขัว
หมวดหินภูพาน ปรากฏเป็นสันเขาเควสตาด้านใน (แนวที่ 2) ของพื้นที่อุทยานธรณีโคราช ประกอบด้วยหินทรายที่มีแร่ควอตซ์มาก และหินทรายปนกรวด มีสีขาว สีเทา สีน้ำตาลแกมเหลือง สีน้ำตาลแกมแดง เม็ดกรวดอาจเป็น แร่ควอตซ์ หินเชิร์ต หินปูน ชั้นหินมักแสดงโครงสร้างชั้นเฉียงระดับ ซึ่งบ่งชี้ถึงการทับถมโดยธารน้ำแบบแม่น้ำประสานสาย ที่มีน้ำมากและไหลแรง ในสภาพภูมิอากาศค่อนข้างร้อนชื้นกึ่งแห้งแล้ง เมื่อประมาณ 120 ล้านปีก่อน

ภาพที่ 2.3 หินโผล่ของหมวดหินภูพาน บริเวณแหล่งหินตัดสีคิ้ว
หมวดหินโคกกรวด พบกระจายตัวเป็นบริเวณกว้าง ด้านหลังของภูเขาเควสตาด้านใน ทางทิศตะวันออกของอำเภอสีคิ้วและอำเภอสูงเนิน ด้านตะวันตกของอำเภอเมืองและอำเภอขามทะเลสอ และทิศใต้ของอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วยหินทรายและหินทรายแป้งสีน้ำตาลแกมแดง และสีน้ำตาลแกมม่วง แสดงชั้นบางถึงชั้นหนา มีการคัดขนาดปานกลาง พบหินกรวดมนเนื้อปูนแทรก บ่งชี้ถึงการทับถมโดยธารน้ำแบบแม่น้ำโค้งตวัด และการทับถมตะกอนบนที่ราบน้ำท่วมถึงบริเวณสองฝั่งแม่น้ำ ในสภาพภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้ง เมื่อประมาณ 110 ล้านปีก่อน ไดโนเสาร์โคราชพบในหินกรวดมนของหมวดหินโคกกรวด

ภาพที่ 2.4 หินโผล่ของหมวดหินโคกกรวด บริเวณบ้านสะพานหิน ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
หมวดหินมหาสารคาม พบกระจายตัวอย่างกว้างขวางบริเวณอำเภอขามทะเลสอ อำเภอเมืองและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วยหินโคลน หินทรายแป้งและหินทรายเนื้อละเอียด สีน้ำตาลแกมแดง สีส้มแดง สีแดงแกมม่วง มีชั้นเกลือหินที่ประกอบด้วยเกลือเฮไลต์ เกลือคัลนาไลต์ ยิมซัมและแอนไฮไดรต์ ไม่พบหินโผล่ เนื่องจากเกลือหินสามารถละลายน้ำได้ง่าย บริเวณที่มีเกลือหินอยู่ด้านล่างมักปรากฏคราบเกลือสีขาวบนผิวดินในฤดูแล้ง หรือเป็นพื้นที่ทำนาเกลือของชาวบ้าน หินของหมวดหินมหาสารคามเกิดจากการทับถมของน้ำในแอ่งปิด ในสภาพภูมิอากาศแบบแห้งแล้งเมื่อประมาณ 100-90 ล้านปีก่อน
ตะกอนตะพักลำน้ำและตะกอนธารน้ำ ปรากฏบริเวณทิศใต้ของอำเภอเมืองและตามแนวแม่น้ำปัจจุบัน ตะกอนทั้งสองหมวดหินนี้เกิดจากการทับถมของตะกอนที่ถูกธารน้ำพัดพามาในยุคควอเทอนารี หรือประมาณ 1.8 ล้านปีก่อนถึงยุคปัจจุบัน โดยตะกอนตะพักลำน้ำ เกิดจากธารน้ำโบราณ ประกอบด้วยกรวด ทราย ทรายแป้ง ศิลาแลง ดินลูกรัง เศษไม้กลายเป็นหินและอุลกมณี เนื่องจากทางน้ำมีการเปลี่ยนเส้นทาง ทำให้ตะกอนตะพักน้ำในปัจจุบันมีลักษณะกึ่งแข็งตัว กลายเป็นที่ราบแบบเนินลูกระนาด ส่วนตะกอนธารน้ำปัจจุบันประกอบด้วย ทราย ทรายแป้ง กรวดและดินเหนียว ซึ่งเกิดจากธารน้ำหลายสาย เช่น ลำตะคอง ลำเชียงไกร ลำน้ำมูล เป็นต้น


ภาพที่ 2.5 ตะกอนตะพักน้ำเก่า บริเวณบ่อกรวดบ้านภูเขาทอง ตำบลไชยมงคล อ.เมือง จังหวัดนครราชสีมา
เรียบเรียงข้อมูลจาก
-
กรมทรัพยากรธรณี. 2550. ธรณีวิทยาประเทศไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับปรับปรุง). กรมทรัพยากรธรณี 628 หน้า.
-
สำนักงานอุทยานธรณีโคราช. 2561. อุทยานธรณีโคราช. มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา. โรงพิมพ์โจเซฟ นครราชสีมา 152 หน้า.