top of page

การวางชั้นเฉียงระดับ (cross bedding) หมายถึง การวางตัวของชั้นหินโดยเอียงเทเป็นมุมกับแนวระดับชั้นหินปกติ ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำหรือลม อันมีผลต่อการตกจมของตะกอนดินทราย ทำให้ไม่อาจตกจมแบบปกติได้ ต้องเอียงเทไปในแนวทางตามกระแสน้ำหรือลม จึงมักพบชั้นหินย่อย ๆ มีแนวขวางหรือทำมุมกับชั้นหินปกติ และแต่ละชั้นบางก็เฉียงไม่เท่ากัน มองเห็นสลับกันไปสลับมา การวางชั้นเฉียงระดับต้องมีความหนามากกว่า 1 เซนติเมตร หากมีความหนาน้อยกว่า 1 เซนติเมตรจะเรียกว่า การวางชั้นบางเฉียงระดับ (cross lamination)

การวางชั้นเฉียงระดับ เป็นโครงสร้างที่เกิดขึ้นพร้อมการเกิดของหินตะกอนเนื้อเม็ด (primary structure) ซึ่งตะกอนมีขนาดเม็ดทรายขึ้นไป มีลักษณะเป็นชั้นบาง ๆ วางตัวทำมุมเอียงเมื่อเทียบกับชั้นหินปกติ (bed) ชั้นเฉียงระดับเกิดขึ้นจากการพอกของตะกอนไปทางด้านหน้า จึงเป็นหลักฐานบ่งชี้ทิศทางของตัวการที่นำตะกอนมาทับถม ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งน้ำและลม โดยทั่วไปชั้นเฉียงระดับที่เกิดจากลมจะมีขนาดใหญ่กว่าที่เกิดจากน้ำ

เม็ดตะกอนที่ถูกพัดพามากับกระแส (น้ำหรือลม) เมื่อพลังงานลดลงจะเกิดการทับถม การพอกจากด้านหลังไปทางด้านหน้าจะทำให้เกิดสันของเนินตะกอน เม็ดตะกอนที่อยู่บนสันจะกลิ้งตกลงมาทางด้านหน้าที่ชันกว่า จึงเห็นเป็นชั้นบาง ๆ ที่มีมุมเอียงเท่ากันเสมอ และเมื่อเวลาผ่านไปมีการทับถมตะกอนมาขึ้น แนวสันของเนินตะกอนจะเคลื่อนตัวไปด้านหน้า ทำให้ชั้นเฉียงระดับหนาขึ้นเรื่อย ๆ การทับถมของตะกอนบนชั้นถัดไปจะทำให้ส่วนบนสุดของชั้นล่างถูกกร่อนหายไป ขอบเขตบนและล่างของชั้นหินปกติจึงสังเกตได้จากระนาบที่ถูกกร่อนนี้

fig9_1.JPG

ภาพที่ 9.1 การทับถมของตะกอนที่พัดพามาโดยน้ำ ทำมุมกับแนวระดับปกติ ทำให้เกิดการวางชั้นเฉียงระดับ

  • YouTube

หินทรายของกลุ่มหินโคราช โดยเฉพาะหินทรายชั้นหนาของหมวดหินพระวิหารและหมวดหินภูพาน ซึ่งเป็นสันของภูเขาอีโต้ หรือเควสตาโคราช มักแสดงโครงสร้างชั้นเฉียงระดับ เนื่องจากเป็นตะกอนที่ทับถมโดยธารน้ำในช่วงมหายุคมีโสโซอิก (Mesozoic Era) ชั้นเฉียงระดับมักปรากฎบนผิวหรือผนังของชั้นหินทราย แม้จะมีความหมองบนผนังหินหรือมีคราบของสิ่งมีชีวิตปกคลุม แต่ชั้นเฉียงระดับมีลวดลายที่สวยงาม ช่วยให้หินทรายเหล่านั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

95584260_134073438224047_798476395041783
fig9_2_2.JPG

ภาพที่ 9.2 การวางชั้นเฉียงระดับที่ปรากฏในชั้นหินทรายปนกรวดของหมวดหินพระวิหาร บริเวณวัดป่าภูผาสูง (อนุเคราะห์ภาพโดย คุณกรองแก้ว เจนจิตไพบูลย์)

95497081_134073354890722_257052542830116

ภาพที่ 9.3 การวางชั้นเฉียงระดับที่ปรากฏในชั้นหินทรายของหมวดหินพระวิหาร (หินรูป หัวทีเร็กซ์) บริเวณวัดเขาจันทร์งาม

95656641_134073378224053_147542997609322

ภาพที่ 9.4 การวางชั้นเฉียงระดับที่ปรากฏในชั้นหินทรายของหมวดหินพระวิหาร บริเวณวัดเขาจันทน์งาม อำเภอสีคิ้ว

95773127_134073398224051_823864776086624

ภาพที่ 9.5 การวางชั้นเฉียงระดับที่ปรากฏในชั้นหินทรายปนกรวดของหมวดหินภูพาน บริเวณวัดป่ามะกอกงาม อำเภอปักธงชัย

เรียบเรียงข้อมูลจาก

  • ราชบัณฑิตยสถาน. 2558. พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยาฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพ 890 หน้า.

  • Nichols, G. 2009. Sedimentology and Stratigraphy (2nd edition). Wiley-Blackwell. 419 p.

ชั้นเฉียงระดับ

cross-bedding
bottom of page