top of page

ชั้นหิน

ชั้นหิน (Bed) เป็นหน่วยเล็กที่สุดในการจัดลำดับชั้นหินตามลักษณะหิน ซึ่งมีการเรียงกันจากหน่วยใหญ่ที่สุดหรือหนาที่สุดไปยังหน่วยเล็กที่สุดหรือบางที่สุดที่สามารถแบ่งได้อย่างเป็นทางการ ดังนี้ คือ กลุ่มหิน (group) หมวดหิน (formation) หมู่หิน (member) และชั้นหิน (bed) โดยชั้นหินมีความหนาตั้งแต่ 1 เซนติเมตร ถึงประมาณ 3 เมตร

 

ชั้นหินเป็นโครงสร้างที่เกิดพร้อมกับการทับถมของหินตะกอน (primary structure) ซึ่งมีลักษณะเนื้อหินที่แตกต่างจากชั้นที่วางตัวอยู่ด้านล่างและด้านบนอย่างชัดเจน ซึ่งเกิดจากการพัดพาตะกอนมาทับถมไม่พร้อมกัน โดยชั้นที่อยู่ล่างมีการทับถมก่อน ส่วนชั้นด้านบนมีการทับถมทีหลัง เรียงขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ตามเวลาที่ผ่านไป ชั้นหินจึงเป็นลักษณะเด่นของหินตะกอน และ “หินชั้น” จึงเป็นชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่ง

 

ชั้นหินแบ่งออกตามความหนา ดังนี้

  • ชั้นหินบางมาก (very thin bed) มีความหนา 1-3 เซนติเมตร

  • ชั้นหินบาง (thin bed) มีความหนา 3-10 เซนติเมตร

  • ชั้นหินหนาปานกลาง (medium bed) มีความหนา 10-30 เซนติเมตร

  • ชั้นหินหนา มีความหนา 30-100 เซนติเมตร (thick bed) และชั้นหินที่หนากว่า 1 เมตร เรียกว่าชั้นหินหนามาก (very thick bed)

fig8_1.jpg

ภาพที่ 8.1 หินกรวดมนเนื้อปนปูนชั้นหนาปานกลางถึงชั้นหนา แทรกด้วยหินโคลนชั้นบาง ของหมวดหินโคกกรวด บริเวณบ้านสะพานหิน ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา

ชั้นหินหนามักเกิดจากตะกอนที่มีขนาดหยาบและพัดพามาด้วยพลังงานสูง เช่น แม่น้ำในฤดูหน้าหลาก ที่สามารถนำตะกอนขนาดใหญ่และปริมาณมากมาทับถมได้ส่วนชั้นหินบางเกิดจากตะกอนที่มีขนาดละเอียดในสภาพแวดล้อมแบบน้ำนิ่งกว่า เช่น บริเวณหนองบึง ทะเลสาบ ที่ราบน้ำท่วมริมฝั่งแม่น้ำในหินแต่ละชั้นอาจมีโครงสร้างหรือซากดึกดำบรรพ์ที่แสดงถึงสภาพแวดล้อมของบริเวณที่มีการทับถมตะกอนด้วย

fig8_2.JPG

ภาพที่ 8.2 หินทรายแสดงชั้นหินหนามากและโครงสร้างชั้นเฉียงระดับ บริเวณวัดเขาจันทน์งาม นักท่องเที่ยวสูงประมาณ 170 เซนติเมตร

IMG_0278.JPG

ภาพที่ 8.3 หินทรายและหินโคลนแสดงชั้นหินบาง

เรียบเรียงข้อมูลจาก

  • ราชบัณฑิตยสถาน. 2558. พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยาฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพ 890 หน้า.

  • Nichols, G. 2009. Sedimentology and Stratigraphy (2nd edition). Wiley-Blackwell. 419 p.

bottom of page