top of page

เควสตาโคราช (Khorat cuesta) คือภูมิประเทศแบบภูเขาที่มีลักษณะคล้ายมีดอีโต้ของไทย ปรากฏทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดนครราชสีมา มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันทางด้านทิศตะวันตก และลาดเอียงด้วยมุมประมาณ 5-10 องศาไปทางทิศตะวันออก-ตะวันออกเฉียงเหนือ

fig4_1.jpeg

ภาพที่ 4.1 เควสตาโคราช มุมมองจากอ่างเก็บน้ำตอนบน โรงไฟฟ้าพลังน้ำชลภาวัฒนา มองไปทางทิศเหนือ (https://www.khoratgeopark.com)

เควสตาโคราชประกอบด้วยเทือกเขาสองแนว

 

  • แนวด้านนอก (แนวที่ 1) อยู่ฝั่งตะวันตกสุดซึ่งเป็นรอยต่อของอำเภอปากช่องและอำเภอสีคิ้ว มีลักษณะเป็นเทือกเขายาวต่อเนื่องและเป็นขอบของที่ราบสูงโคราช มียอดเขาเรียงตัวจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ อาทิ เขาผาแดง เขาเหวตาบัว เขาฟอด เขาขนานจิต โดยมีหุบธารน้ำของลำตะคองที่ตัดเทือกเขาด้านทิศเหนือออกจากเขาด้านทิศใต้ เขาด้านทิศใต้มียอดเขา อาทิ เขายายเที่ยง เขาน้ำโดด และเขาภูผาสูง ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาดงพระยาเย็นและทิวเขาสันกำแพง

  • แนวด้านใน (แนวที่ 2) อยู่ถัดเข้ามาทางทิศตะวันออกในพื้นที่อำเภอสีคิ้วและสูงเนิน มีลักษณะเป็นเขาโดดไม่ต่อเนื่องกัน ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและเล็ก อาทิ เขาแผงม้า เขากระโดน เขาสะเดา เขาซับประดู่ เขาผา เขาปืนแตก เขาหนองบัว เขาสามสิบล่างและเขาเขียว

S__942085555.jpg

ภาพที่ 4.2 แผนที่แสดงตำแหน่งของเควสตาโคราช (ดัดแปลงจาก google map)

S__94208666.jpg

ภาพที่ 4.3 แผนภาพแสดงตำแหน่งยอดเขาบนเควสตาโคราช มองไปทางทิศเหนือ (สำนักงานอุทยานธรณีโคราช 2563)

เควสตาโคราชเกิดได้อย่างไร

พื้นแผ่นดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยอยู่สูงกว่าที่ราบลุ่มภาคกลาง จึงเรียกบริเวณนี้ว่าที่ราบสูงโคราช (Khorat Plateau) โดยพื้นที่สูงนี้ เป็นผลมาจากกระบวนการแปรสัณฐานช่วงปลายยุคครีเทเซียส ต่อเนื่องไปยังมหายุคซีโนโซอิก* ที่มีการชนกันของแผ่นเปลือกโลกอินเดียและยูเรเชีย แรงบีบอัดมหาศาลทำให้เกิดแนวเทือกเขา (orogenic belts) ในภาคเหนือ ภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศ ส่วนแผ่นดินของภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งรองรับด้วยหินฐานที่แข็งแรงและหินตะกอนหนามาก ได้รับแรงและทำให้เกิดรอยคดโค้ง (fold) ในกลุ่มหินโคราช พร้อมทั้งถูกยกตัวสูงขึ้นเกิดทิวเขาทางด้านทิศตะวันตก คือ ทิวเขาเพชรบูรณ์และทิวเขาดงพญาเย็น และทิศใต้ คือ ทิวเขาสันกำแพงและทิวเขาพนมดงรัก ภูเขาเควสตาที่มีความลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แสดงให้เห็นว่าชั้นหินถูกบีบให้คดโค้ง ซึ่งต่อมาหินจึงเกิดการผุพังและถูกกร่อนโดยธารน้ำโบราณ

 

*เหตุการณ์การเกิดรอยคดโค้งและการยกตัวเกิดขึ้นตอนไหนนั้น เป็นคำถามที่นักธรณีวิทยายังคงค้นหาคำตอบด้วยวิธีต่างๆ อาทิ Searle and Morley (2011) ระบุช่วงเวลาระหว่าง 100 ล้านปีก่อน ถึงประมาณ 30 ล้านปีก่อน จากหลักฐานโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่ปรากฎในการสำรวจคลื่นไหวสะเทือน ส่วน Upton (1999 อ้างใน Searle and Morley, 2011) ระบุช่วงเวลาเฉลี่ย 40-50 ล้านปีก่อน จากการหาอายุแร่อะพาไทต์ (apatite)

 

พื้นที่ด้านตะวันตกของจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงขอบเขตด้านตะวันตกของอุทยานธรณีโคราช ที่มีเควสตาโคราชปรากฏ รองรับด้วยหินแข็งของหมวดหินพระวิหาร หมวดหินเสาขัว หมวดหินภูพานและหมวดหินโคกกรวดของกลุ่มหินโคราช (เรียงตามลำดับจากด้านล่างขึ้นด้านบน) หมวดหินดังกล่าวนี้ประกอบด้วยหินทราย หินทรายปนกรวด หินทรายแป้ง หินโคลน โดยหมวดหินพระวิหารและหมวดหินภูพาน มีหินทรายและหินทรายปนกรวดเป็นหลัก ในขณะที่หมวดหินเสาขัวและหมวดหินโคกกรวดมีหินทรายแป้งและหินโคลนเป็นหลัก ทำให้การผุพังโดยรวมของหินในแต่ละหมวดหินแตกต่างกัน ส่งผลให้พื้นที่ที่รองรับด้วยหมวดหินพระวิหารและหมวดหินภูพานเป็นภูเขาสูง ในขณะที่พื้นที่ที่รองรับด้วยหมวดหินเสาขัวและหมวดหินโคกกรวดเป็นที่ราบ โดยแนวของภูเขาทั้งสองแนวทำให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า เควสตาคู่ (double cuesta)

  • YouTube

เรียบเรียงข้อมูลจาก

  • ราชบัณฑิตยสถาน. 2558.พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยาฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพ 890 หน้า.

  • สำนักงานอุทยานธรณีโคราช. 2563. โคราชจีโอพาร์ค มหานครแห่งบรรพชีวิน. เอกสารเผยแพร่ออนไลน์. 19 หน้า. https://www.khoratgeopark.com/ContentInfo.aspx?dataId=2c2c9d36-50d9-4571-b303-9d817f873d50&ctype=book

  • Petit, F., Maquil, R., Kaush, B., Hallot, E. 2018. Cuestas in Gutland (S Luxembourg) and Belgian Lorraine: evolution of a structurally controlled landscape. World Geomorphological Landscapes. 395-410. DOI 10.1007/978-3-319-58239-9

  • Searle, M. P. and Morley, C. K. 2011. Tectonic and thermal evolution of Thailand in the regional context of SE Asia. In Ridd. M. F., Barber, A. J., & Crow, M. J. (eds.) The Geology of Thailan. Geological Society, London. 539-571.

เควสตาโคราช

bottom of page