top of page
02.jpg

ภาพที่ 5.1 ไดโนเสาร์โคราช 4 ชนิด ที่พบเป็นครั้งแรกของโลก

     ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ของไทย พบจากแหล่งขุดค้นหลายแห่ง กระจายอยู่เกือบทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแนวเทือกเขาซึ่งเกิดจากหินตะกอนของกลุ่มหินโคราช ทับถมบนแผ่นดินในช่วงมหายุคมีโสโซอิค (Mesozoic Era) อันเป็นช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์มีชีวิตอยู่บนโลก จึงมีชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์ฝังปะปนอยู่ในชั้นหินด้วย ซากดึกดำบรรพ์อายุเก่าแก่ที่สุดพบในหินยุคไทรแอสซิกตอนปลาย (ประมาณ 210 ล้านปี) ส่วนที่อายุน้อยที่สุดอยู่พบในหินยุคครีเทเชียสตอนกลาง (ประมาณ 100 ล้านปี)

         

โคราชเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ ซึ่งพบทั้งหมด 4 ชนิด ดังต่อไปนี้

1. สิรินธรน่า โคราชเอนซิส (Sirindhorna khoratensis) เป็นไดโนเสาร์กินพืชที่มีกระดูกสะโพกแบบนก (ออร์นิโธพอด)  จัดเป็นไดโนเสาร์เคลดอีกัวโนดอนเทีย (Iguanodontia) ที่มีลักษณะเก่าแก่ หรือเป็นไดโนเสาร์ปากเป็ดยุคแรกๆ เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่แถบอำเภอเมืองนครราชสีมา เมื่อประมาณ 115 ล้านปีก่อน ซึ่งสภาพภูมิประเทศขณะนั้นเป็นที่ราบลุ่มต่ำ ในสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างแห้งแล้ง คล้ายกึ่งทะเลทราย ค้นพบที่บ้านสะพานหิน ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา หมวดหินโคกกรวด พบกระดูกขากรรไกรล่างซ้าย กระดูกขากรรไกรบนซ้าย และกระดูกโหนกแก้มขวา

 

การจำแนกทางวิทยาศาสตร์

Kingdom:Animalia

Phylum:Chordata

Clade:Dinosauria

Order:Ornithischia

Suborder:Ornithopoda

Superfamily:Hadrosauroidea

Genus:Sirindhorna Shibata, Jintasakul, Azuma & You, 2015

dino_03.jpg

ภาพที่ 5.2 สิรินธรน่า โคราชเอนซิส

2. ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (Ratchasimasaurus suranareaeเป็นไดโนเสาร์ประเภทกินพืช จัดอยู่ในกลุ่มที่มีสะโพกแบบนก (ออร์นิโธพอด) เป็นไดโนเสาร์เคลดอีกัวโนดอนเทีย (Iguanodontia) พบกรามล่างซ้ายและร่องฟันโค้งตามรูปฟัน และมีโครงขากรรไกรชี้ไปด้านหลัง ขาหน้าสั้นกว่าขาหลัง มักเดินสองเท้าหรือเดินสี่เท้าเป็นครั้งคราว นิ้วมือและเท้ามี 5 นิ้ว สามารถงุ้มงอนิ้วเพื่อจับกิ่งไม้ได้และมีนิ้วโป้งขนาดใหญ่สันนิษฐานว่าอาจจะมีไว้เพื่อป้องกันตัว ปลายปากคล้ายเป็ดและคาดว่ามี ลิ้นยาวเพื่อตวัดอาหารเข้าปาก กินพืชพวกเฟิร์นและหญ้าหางม้าเป็นอาหาร พบในชั้นหินกรวดมนปนปูน หมวดหินโคกกรวด ซึ่งอยู่ในสมัยแอปเทียน (Aptian) ยุคครีเทเชียสตอนต้น หรืออายุประมาณ 100 ล้านปีก่อน ค้นพบที่บริเวณสระน้ำของหมู่บ้านโป่งแมลงวัน ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

การจำแนกทางวิทยาศาตร์

Kingdom:Animalia

Phylum:Chordata

Clade:Dinosauria

Order:Ornithischia

Suborder:Ornithopoda

Clade:Iguanodontia

Genus:RatchasimasaurusShibata, Jintasakul, & Azuma, 2011

dino_02.jpg

ภาพที่ 5.3 ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ

3. สยามโมดอน นิ่มงามมิ (Siamodon nimngamiเป็นไดโนเสาร์ประเภทกินพืช จัดอยู่ในกลุ่มที่มีสะโพกแบบนก (ออร์นิโธพอด) เป็นไดโนเสาร์เคลดอีกัวโนดอนเทีย (Iguanodontia) พบชิ้นส่วนกระดูกขากรรไกรบนด้านซ้าย ฟันจากขากรรไกรบนเดี่ยวๆ 1 ซี่ และกระดูกส่วนสมองด้านท้ายทอย ในหินกรวดมนปนปูน หมวดหินโคกกรวด ยุคครีเทเชียสตอนต้น มีอายุประมาณ 125-113 ล้านปีก่อน สยามโมดอน นิ่มงามมิ มีลักษณะของกระดูกขากรรไกรบนเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ที่มียอดสามเหลี่ยมไม่สูงนัก ซึ่งมีความยาวทางด้านหน้าสามเหลี่ยม กับด้านหลังสามเหลี่ยมเกือบเท่าๆ กัน คือมีความยาวของขากรรไกรบน 230 มิลลิเมตร และมีความสูง 100 มิลลิเมตร มีส่วนโป่งของพื้นผิวด้านในของขากรรไกรบน เป็นแนวยาวที่เด่นชัด มีฟันของขากรรไกรบน ประมาณ 25 ซี่ ซึ่งมีสันอยู่ตรงกลางตามแนวยาวของฟันจำนวน 1 สันที่เด่นชัดมาก และบางทีอาจมีสันเล็กๆ บางๆ อยู่ด้านข้างของสันใหญ่ อีก 1 สัน หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ ความยาวของฟันประมาณ 25-28 มิลลิเมตร และความกว้างของฟันประมาณ 14-17 มิลลิเมตร ค้นพบที่แหล่งขุดค้นบ้านสะพานหิน ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

การจำแนกทางวิทยาศาสตร์

Kingdom:Animalia

Phylum:Chordata

Clade:Dinosauria

Order:Ornithischia

Suborder:Ornithopoda

Clade:Iguanodontia

Genus:Siamodon Buffetaut & Suteethorn, 2011

dino_04.jpg

ภาพที่ 5.4 สยามโมดอน นิ่มงามมิ

4. สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ (Siamraptor Suwati) ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์กินเนื้อสปีชีส์ใหม่ล่าสุด เป็นไดโนเสาร์เคลดคาร์คาโรดอนโทซอรัส(Carcharodontosaurus) ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ ที่อาศัยอยู่บนโลกช่วงปลายยุคจูราสสิกต่อเนื่องไปจนถึงตอนต้นของยุคครีเทเชียส มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ‘สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ’ (Siamraptor Suwati) ค้นพบที่แหล่งขุดค้นในจังหวัดนครราชสีมา ในชั้นหินหมวดหินโคกกรวด บริเวณบ้านสะพานหิน ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา ระหว่างปี 2551-2556 โดยพบซากดึกดำบรรพ์จำนวนหลายชิ้น เป็นชิ้นส่วนกระดูก กะโหลก กระดูกสันหลัง กระดูกขาหลัง หาง และกระดูกสะโพก คาดว่าเป็นไดโนเสาร์อย่างน้อย 4 ตัว เมื่อประกอบกันขึ้นแล้วตัวของสยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ อาจมีขนาดยาวราว 8 เมตร และมีความสูงราวๆ 3 เมตร มีน้ำหนักราว 7 ตัน ซึ่งถือว่าเล็กหากเทียบกับไดโนเสาร์ตัวอื่นในสกุลเดียวกันเช่น C. saharicus ที่พบในแอฟริกาเหนือนั้นมีความยาวถึง 14 เมตร

การจำแนกทางวิทยาศาสตร์

Kingdom:Animalia

Phylum:Chordata

Clade:Dinosauria

Clade:Saurischia

Clade:Theropoda

Infraorder:Carnosauria

Clade:Allosauria

Clade:Carcharodontosauria

Genus:Siamraptor Chokchaloemwong et al., 2019

S__909317777.jpg

ภาพที่ 5.5 สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ

เอกสารอ้างอิง

 

  • Chokchaloemwong, D., Hattori, S., Cuesta, E., Jintasakul, P., Shibata, M., Azuma, Y. 2019. A new carchatodontosaurian theropod (Dinosauria: Saurischia) from the Lower Cretaceous of Thailand. PLoS ONE 14(10): e0222489. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0222489 https://thestandard.co/siamraptor-suwati/

  • Eric Buffetaut and Varavudh Suteethorn. 2011. A new iguanodontian dinosaur from the Khok Kruat Formation (Early Cretaceous, Aptian) of northeastern Thailand. Annales de Paléontologie (in press). doi:10.1016/j.annpal.2011.08.001.

  • Shibata M, Jintasakul P, Azuma Y, You HL. 2015. A New Basal Hadrosauroid Dinosaur from the Lower Cretaceous Khok Kruat Formation in Nakhon Ratchasima Province, Northeastern Thailand. PLOS ONE 10(12): e0145904. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0145904

  • Shibata, Masateru & JINTASAKUL, Pratueng & Azuma, Yoichi. 2011. A New Iguanodontian Dinosaur from the Lower Cretaceous Khok Kruat Formation, Nakhon Ratchasima in Northeastern Thailand. Acta Geologica Sinica. 85. 10.1111/j.1755-6724.2011.00530.x.

ไดโนเสาร์โคราช

bottom of page