top of page

ชาวโคราชทั้งในอดีตและปัจจุบันมีความศรัทธาในพุทธศาสนา และมีความผูกพันเชื่อมโยงกับหินทรายซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติ เห็นได้จากประติมากรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและพระพุทธรูปหินทราย อาทิ

 

พระพุทธรูปหินทรายปางไสยาสน์ หรือ พระนอนหินทราย อายุ 1,300 กว่าปี วัดธรรมจักรเสมาธรรม ตั้งอยู่ที่ ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา แต่เดิมพื้นที่บริเวณของวัดแห่งนี้เป็นศาสนสถานในสมัยทราวดี และเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ที่มีความเก่าแก่และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อสร้างด้วยหินทรายแดงของหมวดหินโคกกรวด ซึ่งหินมีอายุประมาณ 110 ล้านปี ที่โผล่ในหลายบริเวณของอำเภอสูงเนิน พระพุทธรูปมีความยาว 13.30 เมตร สูง 2.80 เมตร เศียรอยู่ทางทิศใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก พักตร์ค่อนข้างเหลี่ยมประกอบด้วย หินทราย 4 แผ่นวางซ้อนกัน กายประกอบด้วยหินทรายรวมกันเป็นแผ่นในแนวตั้ง ทั้งนี้มีการค้นพบธรรมจักรโบราณ หรือ ธรรมจักรศิลาซึ่งแกะสลักจากหินทรายชนิดเดียวกัน และโบราณวัตถุในสมัยทราวาดีซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์

PP_01.jpg

ภาพที่ 31.1 พระพุทธรูปหินทรายปางไสยาสน์ วัดธรรมจักรเสมาธรรม ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน

fig31_1_2.jpg
fig31_1_3.jpg

ภาพที่ 31.2 ธรรมจักรศิลายุคทราวดี ตั้งอยู่ I วัดธรรมจักรเสมาธรรม ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน

(ภาพจาก http://www.koratstartup.com/wat-dhammachrak-semaram/)

รอยพระบาท 4 รอย ณ วัดเขาจันทร์งาม อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

รอยพระบาท 4 รอย เป็นการแกะสลักรอยพระพุทธบาทซ้อนกัน 4 ชั้น โดยพระบาทเล็กอยู่ด้านในสุด และไล่เรียงขนาดใหญ่ขึ้น 4 ชั้น ทั้งนี้ขนาดทั้งหมดกว้าง 5 เมตร ยาว 9.50 เมตร ถูกแกะสลักอยู่บนหินทรายก้อนใหญ่ที่โผล่บนเขา ห่างจากจุดชมภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ไปทางทิศใต้ เป็นระยะทางประมาณ 100 เมตร แสดงให้เห็นถึงศรัทธาของชาวโคราชยุคปัจจุบัน

fig31_2_2.jpg

ภาพที่ 31.2 รอยพระบาท 4 รอย ณ วัดเขาจันทร์งาม อำเภอสีคิ้ว (ภาพจาก Facebook: More Move)

พระพุทธรูปแกะสลักบนผาหินทราย วัดเขาซับพงโพด อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา

วัดเขาซับพงโพด ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา มีการแกะสลักพระพุทธรูปบนผาหินทรายสีแดง เป็นประติมากรรมนูนต่ำบนหน้าผาที่องค์พระพุทธรูปมีขนาดใหญ่และสวยงามเป็นอย่างมาก ประติมากรรมพระพุทธรูปแห่งนี้ประกอบด้วย พระพุทธรูปปรางค์สมาธิ หน้าตักกว้าง 5 เมตร สูง 6 เมตร และพระพุทธรูปปรางค์ไสยาสน์ กว้าง 16 เมตร สูง 2.5 เมตร และมีจุดชมวิวบนเขาที่มองเห็นทัศนียภาพพื้นที่ด้านล่างได้

แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่อุทยานธรณีโคราช แต่ที่ตั้งของวัดซับพงโพด เป็นส่วนหนึ่งของเขาเควสตาแนวด้านใน ซึ่งเป็นหมวดหินภูพาน ที่ประกอบด้วยหินทรายและหินทรายปนกรวด สีแดงและสีน้ำตาลแกมแดงเป็นหลัก จึงมีความคงทนและปรากฏเป็นภูเขารูปมีดอีโต้ ในพื้นที่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครราชสีมา

fig31_3_1.jpg
fig31_3_2.jpg

ภาพที่ 31.3 พระพุทธรูปแกะสลักบนผาหินทราย วัดเขาซับพงโพด อำเภอเสิงสาง (ภาพจาก Facebook: ฮักนะโคราช)

เรียบเรียงข้อมูลจาก

  • สำนักงานอุทยานธรณีโคราช. 2561. อุทยานธรณีโคราช. มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา. โรงพิมพ์โจเซฟ นครราชสีมา 152 หน้า.

  • ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) https://sac.or.th/

  • Facebook: More Move

  • Facebook: ฮักนะโคราช

หินทรายและศรัทธา

bottom of page