
หินทรายในพื้นที่อุทยานธรณีโคราชเป็นแหล่งทรัพยากรธรณีที่สำคัญและมีการใช้ประโยชน์มานาน ร่องรอยกิจกรรมบริเวณแหล่งตัดหินบ้านลาดบัวขาว อำเภอสี้คิ้ว เป็นหลักฐานว่าบรรพชนของโคราชได้ใช้หินทรายในการก่อสร้างปราสาทหิน มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 15-18
หินทรายมีสีและโครงสร้างที่สวยงามตามธรรมชาติ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งนี้คุณสมบัติทางกลศาสตร์มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นปัจจัยควบคุมความแข็งแรงและทนทานของหิน ทำให้สามารถเลือกใช้หินทรายเพื่อวัตถุประสงค์ที่ต่างกันได้อย่างเหมาะสม

ภาพที่ 24.1 ตัวอย่างการทดสอบคุณสมบัติเชิงกลศาสตร์
คุณสมบัติเชิงกลศาสตร์ของหินทรายบางชนิดในพื้นที่อุทยานธรณีโคราช ถูกศึกษาโดยนักธรณีวิทยาและนักวิจัย เพื่อใช้ในการประเมินคุณภาพของหินประดับและการออกแบบฐานราก ในที่นี้ได้รวบรวมคุณสมบัติ อาทิ ความหนาแน่น (density) ดัชนีน้ำหนักกดแบบจุด (Point Load Strength Index) ค่ากำลังต้านทานแรงอัดแบบการอัดแกนเดี่ยว (Uniaxial Compressive Strength) ความทนทานต่อการขัดสีของหิน (Los Angeles Abrasive Index) และค่าดัชนีความคงทนต่อการผุกร่อนของหิน (Slake Durability Index) แบ่งตามสีของหินทราย ดังนี้
-
หินทรายสีขาว เนื้อละเอียดของหมวดหินพระวิหาร มีความหนาแน่น 2.53-2.59 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร มีค่าดัชนีความแข็งแรงของหินด้วยแรงกดแกนเดียว จากน้ำหนักกดแบบจุดเดียว เท่ากับ 4.78 เมกะปาสคาล ค่ากำลังต้านทานแรงอัดแบบการอัดแกนเดี่ยว เท่ากับ 114.72 เมกะปาสคาล มีค่าความทนทานต่อการขัดสีของหินร้อยละ 62.60
-
หินทรายสีเหลือง เนื้อละเอียดของหมวดหินพระวิหาร มีความหนาแน่น 2.56 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร มีค่าดัชนีความแข็งแรงของหินด้วยแรงกดแกนเดียว จากน้ำหนักกดแบบจุดเดียว เท่ากับ 5.90 เมกะปาสคาล ค่ากำลังต้านทานแรงอัดแบบการอัดแกนเดี่ยว เท่ากับ 141.60 เมกะปาสคาล มีค่าความทนทานต่อการขัดสีของหิน ร้อยละ 57.84
-
หินทรายเนื้อละเอียด (ไม่ระบุสี) ของหมวดหินพระวิหาร มีค่าดัชนีความคงทนต่อการผุกร่อนของหิน ในสภาวะแห้ง ในวัฎจักรที่ 2 เท่ากับ ร้อยละ 94.72-87.57
-
หินทรายสีแดง เนื้อละเอียดของหมวดหินโคกกรวด มีความหนาแน่น 2.40-2.56 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร มีค่าดัชนีความแข็งแรงของหินด้วยแรงกดแกนเดียว จากน้ำหนักกดแบบจุดเดียว เท่ากับ 2.78 เมกะปาสคาล ค่ากำลังต้านทานแรงอัดแบบการอัดแกนเดี่ยว เท่ากับ 66.72 เมกะปาสคาล มีค่าความทนทานต่อการขัดสีของหิน ร้อยละ 78.16
-
หินทรายเนื้อละเอียดของหมวดโคกกรวดมีค่าดัชนีความคงทนต่อการผุกร่อนของหิน ในสภาวะแห้ง ในวัฎจักรที่ 2 เท่ากับ ร้อยละ 96.94-89.98

ภาพที่ 24.1 หินในพื้นที่อุทยานธรณีโคราชมีคุณสมบัติเชิงกลศาสตร์แตกต่างกัน
เรียบเรียงข้อมูลจาก
-
กิตติเทพ เฟื่องขจร. 2554. การประดิษฐ์เครื่องจาลองการผุกร่อนของหินในห้องปฏิบัติการ รายงานการวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 53 หน้า.
-
ทีปวิทย์ ศรีอินทร์. 2550. ผลกระทบของการผุกร่อนต่อกำลังเฉือนของรอยแตกในหินเนื้ออ่อนบางชนิด วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 119 หน้า.
-
สุรเชษฐ ปุณปัน และ ภุชงค์ พลัง ศักยภาพแหล่งหินประดับชนิดหินทราย บริเวณอำเภอปากช่องและอำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา รายงานวิชาการ ฉบับที่ กธ 256/2544 กรมทรัพยากรธรณี 60 หน้า.