top of page

เควสตา (cuesta) หมายถึง เขาที่มีลักษณะคล้ายมีดอีโต้ของไทย ด้านหน้าเป็นผาชันแล้วลาดลงด้านหลัง โดยปกติแล้วด้านลาดมักจะมีลาดเอียงใกล้เคียงกับมุมเทของชั้นหิน (dip) ด้านชันกว่าอยู่ด้านหน้าเรียกว่า ผาตั้ง (escarpment หรือ front slope) ซึ่งตัดเข้าไปในชั้นหินแข็ง ส่วนด้านลาดมีความชันน้อยกว่า เรียกว่า ความลาดตามแนวเท (dip slope) 

 

ผาตั้ง เป็นหน้าผาที่มีความชันมาก แสดงขอบเขตของชั้นหินที่มีความคงทนสูง ทั้งนี้ ความสูงของหน้าผาและการกระจายตัวไปทางด้านข้าง เป็นผลมาจากความหนาและความต่อเนื่องของชั้นหิน ส่วนความลาดตามแนวเท เป็นลาดเขาที่เอียงเทลงสู่พื้นผิวดินและตัดชั้นหินที่แข็งน้อยกว่า ซึ่งอยู่ที่ระดับต่ำกว่า จึงทำให้เกิดสัณฐานแบบสันเขาและร่องที่ราบสลับกัน

95206137_132332391731485_307920808768543

ภาพที่ 3.1 แบบจำลองภูมิประเทศเขาเควสตา (ดัดแปลงจาก Petit et al., 2018)

เควสตาเกิดในพื้นที่ที่รองรับด้วยหินตะกอน (sedimentary rocks) ซึ่งมีการวางตัวของชั้นหินสลับกัน เป็นชั้นหนาบ้าง ชั้นบางบ้าง และหินแต่ละชั้นมีความคงทนต่อการผุพังต่างกัน หินที่คงทนมากกว่าจะคงเหลือมาก ในขณะที่หินที่คงทนน้อยกว่าเมื่อผุพังจะถูกน้ำหรือลมพัดพาออกไปในรูปของเศษตะกอน

fig3_2.jpg

ภาพที่ 3.2 ตัวอย่างการกร่อนในหินที่มีความคงทนไม่เท่ากัน ระหว่างหินทรายเนื้อละเอียดและหินทรายละเอียดมาก ของหมวดหินภูทอก จังหวัดบึงกาฬ (https://sites.google.com/site/khunburan21627/phu-thxk)

ปัจจัยที่ทำให้ภูเขาพัฒนาเป็นเควสตา ประกอบด้วย

  1. ชนิดของหินและแร่ประกอบหิน ส่งผลต่ออัตราการผุพังทางเคมี (chemical weathering) ของหิน แร่ประกอบหินแต่ละชนิดจะผุพังโดยกระบวนการเคมีที่แตกต่างกัน เช่น แร่เฟลด์สปาร์ (feldspar) เมื่อสัมผัสกับน้ำจะเกิดปฏิกริยาไฮโดรไลซิส (hydrolysis) ทำให้ไอออนบางอย่างละลายไปกับน้ำ และเกิดแร่เคโอลิไนต์ (kaolinite) หรือแร่ดินขาวขึ้น แร่แคลไซต์ (calcite) สามารถละลายในน้ำได้ ไอออนต่างๆ จึงละลายไปหมด เมื่อแร่ประกอบหินเปลี่ยนไป หินที่เคยแข็งและแน่นจะสูญเสียการจับตัว ทำให้ผุพัง หลุดออกจากกัน ชั้นหินที่คงทนจะเกิดเป็นหน้าผาและชะง่อนผา ส่วนหินที่คงทนน้อยกว่าจะผุมากจนแหว่งเว้าเข้าไปด้านใน

  2. โครงสร้างทางธรณีวิทยา อาทิ ชั้นหิน (bed) รอยแตกในมวลหิน (joint) รอยเลื่อน (fault) ซึ่งทำให้น้ำและอากาศเข้าไปสัมผัสกับแร่ในเนื้อหินได้มากขึ้น ทำให้เกิดการผุพังได้เร็วขึ้น โดยกลุ่มของรอยแตก (joint set) มักควบคุมเสถียรภาพและทำให้เกิดการถล่มของมวลหิน

  3. ความสูงของพื้นที่ส่งผลต่ออัตราการกร่อน เนื่องจากผิวโลกมีการปรับตัวสู่สมดุลอย่างต่อเนื่อง การกร่อนจะเกิดขึ้นมากในพื้นที่สูงกว่าระดับอยู่ตัว (base level) ซึ่งทำให้หินพังและถล่มลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลก (mass movement) การเกิดแผ่นดินถล่ม (landslide) เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดหน้าผา

  4. สภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝนและธารน้ำผิวดิน ฝนทำให้เกิดการกร่อน (erosion) และพัดพาตะกอนออกไปจากภูเขาซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนและช่วงที่มีพายุและมรสุม น้ำฝนปริมาณมหาศาลจะไหลมารวมกันเกิดเป็นธารน้ำที่มีพลังงานสูง มีศักยภาพในการกร่อนทำลายสูง ธารน้ำที่ไหนไปตามร่องน้ำ หากมีพลังงานมากจะกร่อนและเซาะตลิ่งจนชั้นหินหรือตะกอนบริเวณนั้นถล่มหลุดไปกับน้ำ หากมีพลังงานลดลงจนไม่สามารถนำพาตะกอนไปได้จะเกิดการทับถม (deposit)

  5. น้ำใต้ดิน ทำให้เกิดการกร่อนของหินตามรอยแตกที่อยู่ใต้ดิน อาจทำให้เกิดโพรงและทำให้พื้นผิวด้านบนทรุดตัวลง เป็นกลไกที่ทำให้เกิดหน้าผาได้อีกแบบ ทั้งนี้ ตำแหน่งที่มีการไหลออกของน้ำใต้ดิน หรือเรียกว่าน้ำพุ (spring) เป็นตำแหน่งที่เกิดการผุพังของหินได้มากกว่าบริเวณอื่น

  6. ลมและธารน้ำแข็ง แม้จะไม่ใช่ปัจจัยหลักของการเกิดและพัฒนาเควสตา แต่ลมมีส่วนในกระบวนการกร่อนทำลายในพื้นที่แห้งแล้ง ในขณะที่ธารน้ำแข็งทำให้เกิดการกร่อนในเขตที่มีน้ำแข็งปกคลุม

94488488_132332445064813_601222466266516

ภาพที่ 3.3 ผาตั้งของเควสตาโคราช (เขาน้ำโดด) มุมมองจากเขาภูผาสูง มองไปทางทิศเหนือ

เรียบเรียงข้อมูลจาก

  • ราชบัณฑิตยสถาน. 2558.พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยาฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพ 890 หน้า.

  • Petit, F., Maquil, R., Kaush, B., Hallot, E. 2018. Cuestas in Gutland (S Luxembourg) and Belgian Lorraine: Evolution of a Structurally controlled Landscape. World Geomorphological Landscapes. 395-410. DOI 10.1007/978-3-319-58239-9

เควสตาคืออะไร

bottom of page