
กลุ่มหินโคราช
กลุ่มหินโคราช (Khorat Group) คืออะไร
กลุ่มหินโคราชคือกลุ่มหินตะกอนที่ทับถมในช่วงมหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) แผ่กระจายตัวปกคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของที่ราบสูงโคราช และบางบริเวณในภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศไทย กลุ่มหินโคราชประกอบด้วยหินตะกอนหลายชนิด อาทิ หินกรวดมน หินทราย หินทรายแป้งและหินโคลน ซึ่งแสดงหลักฐานว่าการทับถมเกิดขึ้นบนแผ่นดิน ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณี (พ.ศ.2550) กำหนดให้กลุ่มหินโคราชประกอบด้วย 9 หมวดหิน เรียงลำดับจากอายุแก่ไปอายุอ่อน ดังนี้

ภาพที่ 1.1 แผนที่แสดงการกระจายตัวของหินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (ดัดแปลงจาก กรมทรัพยากรธรณี 2542)
-
หมวดหินห้วยหินลาด ประกอบด้วยหินกรวดมนเนื้อปูน หินกรวดมน หินทราย หินโคลนและหินตะกอนภูเขาไฟ ความหนาของหมวดหินแปรผันระหว่าง 100-400 เมตร
-
หมวดหินน้ำพอง ประกอบด้วยหินทราย หินดินดานและหินกรวดมน ความหนาของหมวดหิน แปรผันระหว่าง 100-1,500 เมตร (หมวดหินน้ำพองโผล่เฉพาะทางตอนเหนือของที่ราบสูงโคราช)
-
หมวดหินภูกระดึง ประกอบด้วยหินดินดานและหินทรายแป้ง สีน้ำตาลแดง แทรกสลับกับหินทรายสีเขียว เนื้อตะกอนขนาดปานกลาง ความหนาของหมวดหินแปรผันระหว่าง 800-1,200 เมตร
-
หมวดหินพระวิหาร ประกอบด้วยหินทรายสีขาวเนื้อตะกอนขนาดปานกลางถึงหยาบ แทรกสลับกับหินดินดาน ความหนาของหมวดหินแปรผันระหว่าง 100-250 เมตร
-
หมวดหินเสาขัว ประกอบด้วยหินดินดานและหินทรายแป้งสีน้ำตาลแดง แทรกสลับด้วยหินทรายสีน้ำตาลแดง เนื้อตะกอนขนาดละเอียด ความหนาของหมวดหินแปรผันระหว่าง 200-760 เมตร
-
หมวดหินภูพาน ประกอบด้วยหินทรายและหินกรวดมน ความหนาของหมวดหินแปรผันระหว่าง 80-140 เมตร
-
หมวดหินโคกกรวด ประกอบด้วยหินทรายแป้งและหินดินดานสีแดง แทรกสลับด้วยหินทรายสีน้ำตาลแดง ความหนาของหมวดหินแปรผันระหว่าง 430-700 เมตร
-
หมวดหินมหาสารคาม ประกอบด้วยหินดินดานและชั้นเกลือหิน ความหนาของหมวดหินแปรผันระหว่าง 610-1,000 เมตร
-
หมวดหินภูทอก ประกอบด้วยหินทรายเนื้อตะกอนขนาดละเอียด หินทรายแป้ง และหินดินดานสีน้ำตาลแดงสด ความหนาแปรผันระหว่าง 200-730 เมตร
กลุ่มหินโคราชถูกสำรวจและปรากฏในแผนที่เป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลด้านการลำดับชั้นหินและซากดึกดำบรรพ์บ่งชี้ว่า ทั้ง 9 หมวดหินดังกล่าวมีอายุตั้งแต่ยุคไทรแอสซิกตอนปลายถึงยุคครีเทเชียส หรือประมาณ 220-65 ล้านปีก่อน (กรมทรัพยากรธรณี, พ.ศ.2550; Meesook, 2001) โดยซากดึกดำบรรพ์โดดเด่นที่พบในกลุ่มหินโคราช ได้แก่ ไดโนเสาร์ สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ร่วมยุค พืชและละอองเรณู

ภาพที่ 1.2 แผนภาพแสดงการลำดับชั้นหินของกลุ่มหินโคราช (ดัดแปลงจาก Suteethorn et al., 2012)
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มีการสำรวจและศึกษากลุ่มหินโคราชเพิ่มเติม ทั้งบนแผ่นดิน อาทิ การสำรวจบริเวณหินโผล่แหล่งใหม่ การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ และใต้ผืนแผ่นดิน อาทิ การสำรวจด้วยคลื่นไหวสะเทือน การศึกษาตัวอย่างแท่งหินจากหลุมเจาะ
ข้อมูลจากการสำรวจด้วนคลื่นไหวสะเทือนพบว่ามีรอยชั้นไม่ต่อเนื่อง (unconformity) ระหว่าง หมวดหินห้วยหินลาดกับหมวดหินน้ำพอง หมวดหินน้ำพองตอนล่างกับหมวดหินน้ำพองตอนบน และหมวดหินโคกกรวดกับหมวดหินมหาสารคาม (Booth and Sattayarak, 2011) ซึ่งอาจทำให้การจัดกลุ่มหินโคราชเปลี่ยนไป ตามหลักการด้านการลำดับชั้นหิน โดยกลุ่มหินโคราชจะประกอบด้วย 6 หมวดหินที่อยู่เหนือและล่างรอยชั้นไม่ต่อเนื่อง ได้แก่ หมวดหินน้ำพองตอนบน หมวดหินภูกระดึง หมวดหินพระวิหาร หมวดหินเสาขัว หมวดหินภูพาน หมวดหินโคกกรวด

ภาพที่ 1.3 แผนภาพแสดงการลำดับชั้นหินใต้ผิวดินบริเวณที่ราบสูงโคราช (Booth and Sattayarak, 2011)
นอกจากนี้จากหลักฐานด้านบรรพชีวินวิทยาพบว่า ซากดึกดำบรรพ์ที่พบในหมวดหินห้วยหินลาดและหมวดหินน้ำพอง มีอายุไทรแอสซิกตอนปลายถึงจูแรสซิกตอนต้น (Sutheethorn et al., 2012; Loajumpon et al., 2017) ส่วนซากดึกดำบรรพ์ของหมวดหินภูกระดึงถึงหมวดหินโคกกรวด มีอายุตั้งแต่ยุคจูแรสซิกตอนปลายถึงยุคครีเทเชียสตอนต้น (Sutheethorn et al., 2012; Chokchaloemwong et al., 2019) ซึ่งทำให้การจัดกลุ่มหินโคราชเปลี่ยนไป โดยประกอบด้วย 5 หมวดหิน ได้แก่ หมวดหินภูกระดึง หมวดหินพระวิหาร หมวดหินเสาขัว หมวดหินภูพาน หมวดหินโคกกรวด
เอกสารอ้างอิง
-
กรมทรัพยากรธรณี. 2550. ธรณีวิทยาประเทศไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับปรับปรุง). กรมทรัพยากรธรณี 628 หน้า.
-
Booth, J. and Sattayarak, N. 2011. Subsurface Carboniferous-Cretaceous geology of NE Thailand. In M. F. Ridd, A. J. Barber and M. J. Crow (Eds.), The Geology of Thailand. Geological Society, London, 185-222.
-
Chokchaloemwong, D., Hattori, S., Cuesta, E., Jintasakul, P., Shibata, M., Azuma, Y. 2019. A new carchatodontosaurian theropod (Dinosauria: Saurischia) from the Lower Cretaceous of Thailand. PLoS ONE 14(10): e0222489. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0222489.
-
Loajumpon, C., Suteethorn, V., Chanthasit, P., Lauprasert, K., Sutheethorn, S. 2017. New evidence of Sauropod Dinosaurs from the Early Jurassic Period of Thailand. Acta Geologica Sinica. 91(4): 1169-1178.
-
Meesook A. 2001. Jurassic-Cretaceous Environments of Northeastern Thailand. Technical report. Geological Survey Division Department of Mineral Resources. Bangkok. 43 p.
-
Suteethorn, S., Loeuff, J. L., Buffetaut, E., Suteethorn, V., Wongko, K. 2012. First evidence of a Mamenchisaurid Dinosaur from the Upper Jurassic-Lower Cretaceous Phu Kradung Formation of Thailand. Acta Palaeontologica Polonica. 58(3): 459-469.