top of page

ทราย (sand) หมายถึง ตะกอนที่เป็นเศษหิน เศษแร่ มีขนาดเล็กกว่ากรวดแต่ใหญ่กว่าทรายแป้ง มีเส้นผ่าศูนย์กลางของเม็ดทรายตั้งแต่ 0.06-2.0 มิลลิเมตร แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ ทรายละเอียดมาก (0.06-0.125 มิลลิเมตร) ทรายละเอียด (0.125-0.25 มิลลิเมตร) ทรายกลาง (0.25-0.50 มิลลิเมตร) ทรายหยาบ (0.50-1.0 มิลลิเมตร) และทรายหยาบมาก (1.0-2.0 มิลลิเมตร)

sand_02.jpg

ภาพที่ 12.1 การจำแนกขนาดตะกอน

ทั้งนี้ ทราย เป็นคำที่มีความหมายกว้าง ครอบคลุมไปถึงเศษหินและแร่ต่าง ๆ ที่เป็นเม็ดร่วน ๆ ไม่เกาะกันแน่น สามารถมองได้ด้วยตาเปล่า ทางวิชาการมักหมายถึงเฉพาะแร่ควอตซ์ (quartz) แต่ทรายอาจเป็นแร่อื่น อาทิ เฟลด์สปาร์ (feldspar) ไมกา (mica) ทัวร์มาลีน (tourmaline) การ์เนต (garnet) แมกนีไทต์ (magnetite) ฮีมาไทต์ (hematite) อิลเมนไนต์ (ilmenite) เซอร์คอน (zircon) แคลไซต์ (calcite) ฮอร์นเบลนด์ (hornblende) หรืออาจเป็นเศษหิน เช่น หินเชิร์ต (chert) หินบะซอลต์ (basalt) รวมถึงเศษชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิต เช่น เปลือกหอย โครงร่างปะการัง เป็นต้น

fig12_2_1.jpg

ภาพที่ 12.2 ทรายสีดำที่พัดพามาจากป่าชายเลน บริเวณหาดทรายดำ แหลมงอบ จังหวัดตราด ประกอบด้วยแร่ไลโมไนต์ แร่ควอตซ์ เศษเปลือกหอยและอินทรียสาร

fig12.3.jpg

ภาพที่ 12.2 ทรายทะเลบริเวณอ่าวนุ่น อำเภอละงู จังหวัดสตูล ประกอบด้วยควอตซ์และเศษเปลือกหอย

ทราย จัดเป็นตะกอนเนื้อเม็ด (clastic sediments) ที่เกิดจากกระบวนการผุพัง ทั้งทางกายภาพและทางเคมีของมวลหินที่มีอยู่เดิม ก่อนจะถูกพัดพาด้วยตัวกลางซึ่งขึ้นกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้น เช่น น้ำผิวดิน ลม น้ำทะเล ธารน้ำแข็ง ตลอดเส้นทางของการพัดพาเม็ดตะกอนจะถูกขัดสี ทำให้รูปร่างและขนาดเปลี่ยนแปลงไป ยิ่งไกลจากแหล่งกำเนิด เม็ดตะกอนจะมีความกลมมน (roundness) ไม่เป็นเหลี่ยมมุม มีความเป็นทรงกลม (sphericity) และหากเม็ดตะกอนเป็นแร่ที่ผุพังได้ง่าย จะผุและหลุดหายไปจนเหลือแร่ที่มีความคงทนสูง ทรายที่ถูกพัดพามาไกลและถูกขัดสีมากจะเหลือเพียงแร่ควอตซ์เท่านั้น

 

ทรายที่ถูกพัดพามาและทับถมบริเวณริมแม่น้ำ มักจะทับถมรวมกับซากสิ่งมีชีวิตที่ถูกน้ำพัดพามา ทำให้ซากสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นถูกเก็บรักษาไว้ในชั้นทราย และกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์ในที่สุด แหล่งทรายบริเวณตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนคคราชสีมา เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า แม่น้ำมูลโบราณหลายสิบล้านปีก่อน ได้พัดพาซากช้างโบราณ และสัตว์ร่วมยุค อาทิ เต่า จระเข้ แรด หมู ยีราฟ เอฟ ไฮยีนา และต้นไม้ มาทับถมรวมกัน เป็นหลักฐานว่าในยุคนั้นพื้นแผ่นดินโคราชมีสภาพภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา และมีสิ่งมีชีวิตหลายกลุ่มที่ในปัจจุบันไม่เหลือในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกแล้ว

  • YouTube

เรียบเรียงข้อมูลจาก

  • ราชบัณฑิตยสถาน. 2558.พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยาฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพ 890 หน้า.

  • ภาพทรายสีดำจาก https://travel.trueid.net/detail/X47kzWo2aRv4)

ทราย

bottom of page