top of page

แหล่งหินตัดสีคิ้ว ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 206-207 ข้างวัดเขาทองวนารามหรือวัดภูเขาทอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีสภาพเป็นเนินเขาขนาดย่อม เป็นแหล่งวัตถุดิบหินทรายแหล่งหนึ่งของมนุษย์สมัยโบราณ สำหรับใช้ในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ โดยเฉพาะปราสาทในวัฒนธรรมเขมรในเขตอำเภอสีคิ้วและอำเภอสูงเนินในปัจจุบัน เช่น ปราสาทเมืองแขก ปราสาทหัวสระ ปราสาทโนนกู่ เป็นต้น

06.jpg

ภาพที่ 29.1 แหล่งหินตัดสีคิ้ว 

จากร่องรอยการสกัดหินทราย พบว่าส่วนใหญ่เป็นก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้า บ้างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือลูกบาศก์ บางส่วนปรากฏเป็นร่องสกัดแนวยาวต่อเนื่องกัน แต่ยังไม่มีการสกัดเอาก้อนหินทรายออกไป บางส่วนได้ถูกสกัดออกไปแล้ว ที่พื้นผิวด้านข้างของก้อนหินทรายที่ถูกสกัด พบร่องรอยที่เกิดจากเครื่องมือที่ใช้สกัด นักวิชาการส่วนใหญ่คาดว่าน่าจะเป็นเครื่องมือเหล็กประเภทสิ่ว ทั้งนี้ร่องที่เกิดจากการสกัดหินทรายบริเวณแหล่งหินตัดนี้ อยู่ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้และแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวแตกตามธรรมชาติของหินทรายบริเวณนี้ โดยวางตัวตัดการเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายลักษณะรูปหลังเต่า (กรมทรัพยากรธรณี 2557) และยังพบว่าคนโบราณสกัดหินบางส่วนเริ่มจากรอยกุมลักษณ์ที่พบบริเวณผิวหน้าชั้นหิน

ttgal5a8294cdeaeb9.jpg

ภาพที่ 29.2 ร่องรอยการแซะสกัดหินทรายตามรอยแตกของมวลหิน และกุมภลักษณ์บริเวณด้านบนชั้นหิน (ภายจาก www.thai-tour.com)

ทางธรณีวิทยา พื้นที่แหล่งหินตัดสีคิ้วอยู่ในหมวดหินภูพาน ซึ่งเป็นเขาเควสตาโคราชแนวด้านใน ประกอบด้วย หินทรายสีขาวและสีเทา หินทรายปนกรวดชั้นหนา เนื้อหินขนาดทรายปานกลางถึงทรายหยาบ ประกอบด้วยแร่ควอตซ์เป็นหลัก หินทรายเหล่านี้เกิดจากการทับถมของทรายในแม่น้ำโบราณยุคครีเทเซียส บริเวณแหล่งหินตัด พบหลุมที่มีขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร ลึกประมาณ 50-70 เซนติเมตร หลายหลุม ลักษณะเช่นนี้เรียกว่ากุมภลักษณ์ (pothole) หรือในภาษาอีสานเรียกว่าโบก มีลักษณะเป็นหลุมลึกลงไปในพื้นหิน รูปร่างภายในคล้ายทรงหม้อตาล โดยปากหลุมกว้างและค่อยๆ แคบเข้าไปยังก้นหลุม ผิวผนังหลุมเรียบ กุมภลักษณ์นี้เกิดจากการ

กระทำของธารน้ำและเม็ดกรวด โดยกระแสน้ำได้พัดพาเม็ดกรวดไหลเป็นกระแสน้ำวน อยู่ภายในรู และค่อยๆ กร่อนเนื้อหินจนหลุมขยายตัวกว้างขึ้นและลึกขึ้น เป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเนินเขาแห่งนี้เคยมีธารน้ำไหลผ่านมาก่อน ปัจจุบันแหล่งหินตัดถูกพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาและวัฒนธรรมที่เหมาะสำหรับทุกวัย

ข้อแนะนำสำหรับเยี่ยมชมแหล่งหินตัด: การเดินบนพื้นหินและขูดขีดในแหล่งหินตัดอาจทำให้เกิดการกร่อนของหินจากการเสียดสีได้ ซึ่งการกร่อนนี้อาจทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ 

fig29_3_2.jpg
fig29_3_3.jpg

รูปที่ 29.3 การท่องเที่ยวและจัดกิจกรรมการเรียนรู้บริเวณแหล่งหินตัดสีคิ้ว 

เรียบเรียงข้อมูลจาก

  • สำนักงานอุทยานธรณีโคราช. 2561. อุทยานธรณีโคราช. มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา. โรงพิมพ์โจเซฟ นครราชสีมา 152 หน้า.

  • ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) https://sac.or.th/

แหล่งหินตัด

bottom of page