top of page

รูชอนไช

รูชอนไช (burrow) หมายถึง รูรูปกลมหรือเกือบกลมในชั้นหิน มักมีทรายหรือโคลนบรรจุอยู่ รูนี้อาจพบวางตัวในแนวระนาบชั้นหินหรือแทรกอยู่ในเนื้อหินอาจมีรูปร่างตรงหรือคดเคี้ยวก็ได้ เกิดจากการขุดรูของสัตว์พวกหนอนกินโคลน หอย หรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ (ราชบัณฑิตยสถาน. 2558)


วัฒนา ตันเสถียร (2549) ระบุว่ารูชอนไช คือ รูในชั้นหินที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตขุดชั้นหินตะกอนที่นุ่มหรือเกือบแข็ง บางครั้งถ้าเห็นร่องรอยไม่ชัด เรียกว่า การรบกวนตะกอน (bioturbation) มักมีโคลนหรือทรายบรรจุอยู่ อาจพบรูชอนไชวางตัวในแนวระนาบกับชั้นหินหรือแทรกอยู่ในเนื้อ ในแนวดิ่งหรือแนวเอียง อาจมีรูปร่างตรงหรือคดเคี้ยว อาจมีผนังบางๆ ด้วย อาจเป็นรูเดี่ยวๆ หรือสาขาแยกออกไป หรือเป็นโครงข่ายซับซ้อน รูอาจเรียบ หรือเป็นตะปุ่มตะป่ำ ผนังมีริ้วรอยลวดลายต่างๆ ตะกอนที่อยู่ในรูปแบบนั้นอาจเป็นส่วนที่สัตว์ขับถ่ายออกมา หลังจากที่ได้กินสารอาหารที่แทรกปนอยู่หมดไปแล้ว ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น การขุดรูของสัตว์พวกหนอนกินโคลน หอย หรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดอื่นๆ หรือมีตะกอนเข้ามาอุดภายหลังจากที่สัตว์ได้ละทิ้งรูไปแล้ว

fig7_1.jpg

ภาพที่ 7.1 ภาพแสดงการทดลองในห้องปฏิบัติการเพื่อศึกษาโครงสร้างในหินตะกอนที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต โดยนักวิจัยสร้างกล่องบรรจุทรายละเอียดที่เรียงชั้นคล้ายการเรียงชั้นของตะกอนในธรรมชาติ แล้วปล่อยให้แมลงชอนไชเพื่อสังเกตรูปร่างของรูชอนไชและการถมกลับตะกอนตามธรรมชาติ (Smith et al., 2008)

รูชอนไช เป็นหนึ่งในซากดึกดำบรรพ์ร่องรอย (trace fossils) ที่บันทึกรูปร่างและลักษณะที่เกิดขึ้นในชั้นตะกอนเอาไว้ แต่ไม่มีตัวของสิ่งมีชีวิตเหลืออยู่ ทั้งนี้ร่องรอยถูกแปลความหมายว่ามีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้นเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ นักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งกลุ่มซากดึกดำบรรพ์ร่องรอยบนสมมติฐานว่าเจ้าของร่องรอยเหล่านั้นมีพฤติกรรม รูปแบบการใช้ชีวิตและการกินอาหารอย่างไร ทั้งนี้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดอาจสร้างร่องรอยที่มีลักษณะคล้ายกันก็ได้ หรือสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันอาจสร้างร่องรอยที่มีลักษณะต่างกันเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกันก็ได้

fig7_2.jpg

รูปที่ 7.2 การแบ่งกลุ่มร่องรอยสิ่งมีชีวิตบนพื้นฐานพฤติกรรมของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (MacEachern et al., 2010)

นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังได้จำแนกร่องรอยออกเป็น ichnogenera (เทียบเท่ากับพันธุ์-genus = igen.) และ ichnospecies (เทียบเท่าชนิด-species = isp.) เช่นเดียวกับการจำแนกซากดึกดำบรรพ์กลุ่มอื่น ๆ

fig7_3.jpg

รูปที่ 7.3 ตัวอย่างและลักษณะปรากฏของ ichnogenera (Wetzel, 2008)

  • Phycodes เป็นรอยชอนไชเป็นช่อมีหลายรอยแยกแขนงไปจากจุดเดียวกัน จนดูคล้ายนิ้วมือหรือรวงข้าว วางตัวค่อยข้างขนานกับระนาบชั้นหิน เป็นรอยชอนไชเพื่อหาอาหาร ของสัตว์ที่อยู่ด้วยกันหลายตัว

  • Planolites เป็นรอยชอนไชง่ายๆ ตรงๆ หรือโค้งเล็กน้อย วางตัวขนานกับระนาบชั้นหินหรือทำมุมเอียงเล็กน้อย ตะกอนในรอยมีลักษณะสีหรือขนาดเม็ดต่างจากหินรอบๆ มักไม่มีผนังหรืออาจมีบ้างแต่บางๆ ผนังเรียบหรืออาจมีริ้วรอยต่างๆ ก็ได้ เป็นรอยชอนไชเพื่อหาอาหาร

  • Skolithos เป็นรอยชอนไชแบบง่ายๆ เป็นรูตรงๆในแนวดิ่งหรือตั้งฉากกับชั้นหิน คล้ายท่อ อาจมีผนังหนาหรือบางๆ เป็นรอยชอนไชเพื่ออยู่อาศัยและสัตว์กินอาหารที่กรองจากน้ำที่ดูดเข้ามา

  • Lockeia เป็นรอยมีลักษณะรูปรี ที่เป็นรอยนูนมีรูปร่างและขนาดคล้ายเม็ดอัลมอนด์ หรือเม็ดพุทรา ส่วนใหญ่พบเป็นรอยนูนอยู่ใต้ผิวล่างของชั้นหินทราย

  • Teichichus เป็นรอยชอนไชยาวๆ มีผนังรูปร่างคล้ายรางน้ำเรียงซ้อนๆกันขึ้นมาตั้ง ส่วนบนสุดมักเป็นรูกลมยาว ซึ่งเป็นรูสุดท้ายก่อนที่สัตว์จะจากไป เป็นรอยที่สัตว์ขุดเพื่ออาศัย และหาอาหารที่กรองจากน้ำที่ดูดผ่านรูเข้ามา

  • Thalassinoides เป็นรอยชอนไชที่เป็นโครงข่าย 3 มิติ มีรูแยกเป็นสาขาเชื่อมต่อกันเป็นมุม 120 องศา ส่วนบนสุดเป็นโครงข่ายระนาบและมีปล่องแนวดิ่งเชื่อมต่อถึงน้ำที่ก้นทะเล

burrow_02.jpg

รูปที่ 7.3 ตัวอย่างและลักษณะปรากฏของ ichnogenera (Wetzel, 2008)

S__933891.jpg

รูปที่ 7.6 รอยชอนไช (Skolithos? isp.) ในหินทรายหมวดหินพระวิหาร

  • YouTube

เรียบเรียงจาก

  • ราชบัณฑิตยสถาน. 2558. พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยาฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพ 890 หน้า.

  • วัฒนา ตันเสถียร. 2549. ร่องรอยสัตว์ดึกดำบรรพ์ในประเทศไทย, กรุงเทพฯ : สำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี, 2549 จำนวนหน้า 58 หน้า

  • MacEachern, J. A., Pemberton, G. S., Gingras, M. K. and Bann, K. L. 2010. Ichnology and Facies Models. In Noel P. J. and Roberts, W. D. (eds.) Facies Models 4. GEOtext6. Geological Association of Canada. 19-58.

  • Smith, J. J., Hasiotis, S. T., Kraus, M. J. and Woody, D. T. 2008. Naktodemasis bowni: new ichnogenus and ichnospecies for adhesive meniscate burrows (AMB), and paleoenvironmental implications, Paleogene Willwood Formation. Bighorn Basin, Wyoming. The Paleontological Society. 82(2): 267-278.

  • Wetzek, A. 2008. Recent bioturbation in the deep South China Sea: a uniformitarian ichnologic approach. PALAIOS. 23: 601-615.

bottom of page