
การวางชั้นเฉียงระดับ (cross bedding) เป็นโครงสร้างที่เกิดขึ้นพร้อมการเกิดของหินตะกอนเนื้อเม็ด (primary structure) ซึ่งตะกอนมีขนาดเม็ดทรายขึ้นไป มีลักษณะเป็นชั้นบาง ๆ วางตัวทำมุมเอียงเมื่อเทียบกับชั้นหินปกติ (bed) ชั้นเฉียงระดับเกิดขึ้นจากการพอกของตะกอนไปทางด้านหน้า จึงเป็นหลักฐานบ่งชี้ทิศทางของตัวการที่นำตะกอนมาทับถม ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งน้ำและลม โดยทั่วไปชั้นเฉียงระดับที่เกิดจากลมจะมีขนาดใหญ่กว่าชั้นเฉียงระดับที่เกิดจากน้ำ
เม็ดตะกอนที่ถูกพัดพามากับกระแสลม เมื่อพลังงานลดลงจะเกิดการทับถม การพอกจากด้านหลังไปทางด้านหน้าจะทำให้เกิดสันของเนินตะกอน เม็ดตะกอนที่อยู่บนสันจะกลิ้งตกลงมาทางด้านหน้าที่ชันกว่า จึงเห็นเป็นชั้นบางๆ ที่มีมุมเอียงเท่ากันเสมอ และเมื่อเวลาผ่านไปมีการทับถมตะกอนมากขึ้น แนวสันของเนินตะกอนจะเคลื่อนตัวไปด้านหน้า ทำให้ชั้นเฉียงระดับหนาขึ้นเรื่อยๆ การทับถมของตะกอนบนชั้นถัดไปจะทำให้ส่วนบนสุดของชั้นล่างถูกกร่อนหายไป ขอบเขตบนและล่างของชั้นหินปกติจึงสังเกตได้จากระนาบที่ถูกกร่อนนี้

ภาพที่ 10.1 การทับถมของตะกอนที่พัดพามาโดยลม ทำมุมกับแนวระดับปกติ ทำให้เกิดการวางชั้นเฉียงระดับ
ตะกอนทรายที่ถูกลมพัดพามา เมื่อความเร็วของลมลดลงจะตกทับถมเป็นเนิน เรียกว่าเนินทราย (sand dune) ลมเป็นตัวการที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในสภาวะอากาศแบบแห้ง มีฝนตกน้อย เม็ดทรายที่ถูกลมพัดมาจะกระแทกกันและกระแทกกับหินแข็งจนแตก และกร่อนจนมีขนาดละเอียดมาก ลมที่พัดอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ทำให้เกิดการพอกไปทางด้านหน้า เม็ดทรายกระดอนขึ้นไปจนถึงสันของเนินทรายและตกลงมาทางด้านชันกว่า ทำให้เห็นเป็นชั้นบางๆ เนินทรายมีการเคลื่อนที่และเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ไปตามทิศทางของกระแสลม และสามารถพบได้ที่ตามแนวชายฝั่งทะเลที่มีความลาดเอียงน้อย น้ำทะเลขึ้นเต็มที่ ตามริมฝั่งแม่น้ำหรือตามชายฝั่งขนาดใหญ่ และบริเวณที่ถูกปกคลุมด้วยทรายที่แห้งเป็นจำนวนมากในบางฤดู โดยความเร็วลมและความชื้นเป็นปัจจัยควบคุมการเกิดเนินทรายที่มีรูปร่างแบบต่าง ๆ ดังนี้
-
Barchan dunes (Crescentic dunes) พบในพื้นที่ที่ปริมาณทรายค่อนข้างน้อย เนินทรายจะวางตัวไปตามทิศทางขนานกับลม ลักษณะของเนินที่ได้จะคล้ายกับรูปพระจันทร์เสี้ยว
-
Longitudinal dunes(Linear dunes) เนินทรายมีสันที่ค่อนข้างเป็นเส้นตรง เกิดจากมีลมมากระทำใน 2 ทิศทางหลัก ซึ่งแกนยาวจะขนานไปตามทิศทางลม อาจเรียกว่า Seif dunes ก็ได้
-
Star dunes เนินทรายมีลักษณะคล้ายรูปดาว มีสันแยกออกจากจุดศูนย์กลาง เกิดจากมีลมมากระทำในหลายทิศทาง
-
Parabolic dunes มีลักษณะคล้ายอักษร U โดยตะกอนที่พัดมามาเป็นตะกอนบริเวณชายหาดหรือริมฝั่งแม่น้ำ หรือช่วงปลายของธารน้ำแข็ง ซึ่งมีความชื้น
-
Transverse dunes เนินทรายมีลักษณะเป็นสันทรายวางตั้งฉากกับทิศทางลม เนื่องจากลมที่พัดมานั้นมีความแรงในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเท่านั้น

ภาพที่ 10.2 รูปแบบของเนินทราย
ชั้นเฉียงระดับที่เกิดจากลมมักมีขนาดสูงใหญ่ ทั้งนี้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พบการวางชั้นเฉียงระดับขนาดใหญ่มากในหินทรายเนื้อละเอียดของหมวดหินภูทอก ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญบ่งชี้การทับถมโดยลม ที่แตกต่างจากกระบวนการธารน้ำของหมวดหินอื่น ๆ


ภาพที่ 10.3 หินทรายชั้นหนามาก หินทรายมีชั้นเฉียงระดับขนาดใหญ่มากและมีมุมของการวางตัวเอียงเทสูง บริเวณน้ำตกภูวัว จังหวัดบึงกาฬ (อนุเคราะห์ภาพโดย คุณนเรศ สัตยารักษ์)
เรียบเรียงข้อมูลจาก
-
ราชบัณฑิตยสถาน. 2558. พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยาฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพ 890 หน้า.
-
Nichols, G. 2009. Sedimentology and Stratigraphy (2nd edition). Wiley-Blackwell. 419 p.