
การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานบริเวณจังหวัดนครราชสีมามีการดำเนินงานและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หลายโครงการต้องสร้างขึ้นบนฐานรากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหินโคราช พาดผ่านเควสตาโคราชทั้งสองแนว เข้าสู่ที่ราบสูงโคราช อาทิ
-
โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ มีลักษณะเป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำด้านบนเขายายเที่ยง ลงสู่โรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ต่ำลงไป 350 เมตร ต้องเจาะผ่านหินแข็งของหมวดหินพระวิหารและหมวดหินภูกระดึง ซึ่งถือว่าเป็นงานเจาะอุโมงค์ในหินโครงการต้นๆ ของประเทศไทย
-
การก่อสร้างฐานรากกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าบริเวณขอบที่ราบสูงโคราช โดยเฉพาะบนสันเควสตาของหมวดหินพระวิหารและหมวดหินภูพาน บริเวณดังกล่าวเป็นช่องลมที่มีความเร็วลมสูง เป็นพื้นที่ศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลม ในปัจจุบันมีการติดตั้งกังหันลมจำนวนมากตามแนวขอบที่ราบสูงโคราช โดยต้องสร้างฐานรากขนาดใหญ่ในชั้นหินทรายลึกประมาณ 10-20 เมตร จากระดับผิวดิน



ภาพที่ 25.1 การก่อสร้างฐานรากกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า บนพื้นที่เควสตาโคราช
-
การก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์โคราช) และการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง เป็นโครงการก่อสร้างบนพื้นผิิวที่ต่อเนื่องมาจากจังหวัดสระบุรี ซึ่่งเมื่อเข้าใกล้ลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา จะต้องสร้างฐานรากบนหินของกลุ่มหินโคราช ต้องเจาะลึกลงไปประมาณ 10-30 เมตรจากพื้นผิว โดยเมื่อเจาะถึงชั้นหินทรายหรือหินทรายปนกรวดชั้นหนามาก จะแข็งมากต้องใช้เวลาและพลังงานในการเจาะมากด้วย แต่เมื่อถึงชั้นหินดินดาน หินโคลน ความแข็งจะลดลงอย่างรวดเร็ว จึงต้องอาศัยทักษะและความรู้ด้านวิศวกรรมธรณีในการก่อสร้าง

ภาพที่ 25.2 การก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 6 ช่วงลำตะคอง

ภาพที่ 25.3 การก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง ช่วงอำเภอสูงเนิน
ข้อมูลจาก
-
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT): https://www.egat.co.th/index.php…
-
กรมทางหลวง: http://www.doh-motorway.com/motorway-…/northeastern-route/…/